กดไลค์เพื่อเป็นกำลังใจ เอ้ากดเลย

?(*^ – ^*)?

วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ศาลให้กรมมลพิษ จ่ายหมื่นล้าน



วิจิตรภัณฑ์กับพวก ชนะคดีคลองด่าน อธิบดีเครียดหนักหาตัวผู้รับผิดชอบ

กรมควบคุมมลพิษอ่วม ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนให้จ่ายผิดสัญญาค่างวดงานโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ บวกดอกเบี้ยแล้วเป็นเงินร่วม 1 หมื่นล้านบาท ให้กับ 6 บริษัทเอกชน “วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง-สี่แสงการโยธาฯ-ประยูรวิศว์ฯ-กรุงธนเอนยิเนียร์-เกต เวย์ ดีเวลลอปเมนท์-สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง” ด้านอธิบดี คพ.ถึงกับเครียด เล็งช่องทางหาเงินมาจ่าย คาดต้องของบประมาณกลาง แต่อีก 6 เดือน ศาลตัดสินอีกคดีที่ คพ.ฟ้องคดีอาญาเอกชนฐานฉ้อโกงที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้าง

หลังสู้คดียืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2546 นับตั้งแต่ นายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งยุติโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่ว่าจ้าง 6 บริษัทเอกชนร่วมก่อสร้าง วงเงินประมาณ 22,900 ล้านบาท เพราะการออกโฉนดที่ดินสำหรับทำโครงการ ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ทำให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก 6 คน ได้ยื่นต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายจาก คพ.ในวงเงิน 9,400 ล้านบาท และเงินเหรียญสหรัฐฯ 31 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งอนุญาโตตุลาการ มีคำสั่งให้ คพ.จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัทเอกชนดังกล่าว ในวงเงิน 4,400 ล้านบาท และเงินเหรียญสหรัฐฯอีก 26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมา คพ.ได้ยื่นคัดค้านคำสั่งอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลาง พร้อมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2555 เพื่อระงับคำสั่งชดเชยค่าเสียหายของอนุญาโตตุลาการ

ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ย. ศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีการก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ (โครงการคลองด่าน) ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยืนตามอนุญาโตตุลาการให้ คพ.จ่ายค่าชดเชยให้กับเอกชน จำนวน 9,000 ล้านบาท และคดีที่บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างกับพวก 6 คน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และ คพ. โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และให้ผู้คัดค้านชำระเงิน ค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 6 คน พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี (801,229,599 บาท) นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2546 โดยให้ คพ.จ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด รวมทั้งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้ง 6 และให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน

ทั้งนี้ ในคำพิพากษาศาลปกครองเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่มีเหตุให้เพิกถอนและให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งในศาลปกครองชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ซึ่งชำระไว้เกิน ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 5,484,918 บาท (ห้าล้านสี่แสนแปดหมื่นสี่พันเก้าร้อยสิบแปดบาทถ้วน)

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า รู้สึกเครียด ที่ คพ.จะต้องจ่ายเงินให้กับกิจการร่วมค้า ขณะนี้ยังไม่ทราบตัวเลขแน่ชัดว่าเป็นเงินจำนวนเท่าไร แต่เป็นเงินตั้งต้นสำหรับการฟ้องร้องอยู่ประมาณ 6 พันล้านบาท บวกดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 เป็น เวลา 10 ปี น่าจะอยู่ที่ตัวเลขประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง คพ.ก็คงต้องยอมรับในคำตัดสินของศาล และตามขั้นตอนของราชการแล้ว คงต้องขอเงินจากงบประมาณกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับงบประจำปีของ คพ. ซึ่งงบประมาณประจำปีของ คพ.จะอยู่ที่ปีละ 500 ล้านบาทเท่านั้น

เมื่อถามว่า มีแนวทางอะไรที่จะคลี่คลาย หรือผ่อนหนักเป็นเบาหลังจากนี้หรือไม่ นายวิเชียร กล่าวว่า คงไม่มีแล้ว เรื่องคงจบแค่นี้ เพราะศาลปกครองสูงสุดตัดสินออกมาแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คงต้องหารือกับนักกฎหมาย เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ หรือตามระเบียบราชการคือหาผู้รับผิดทางละเมิด ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ได้รายงานในเรื่องดังกล่าวด้วยวาจากับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด

ส่วนสภาพระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นอย่างไรยังใช้ได้อยู่หรือไม่นั้น นายวิเชียรกล่าวว่า หลังจากมีคดีเกิดขึ้น ทางกิจการร่วมค้าเป็นผู้ดูแล คพ.ไม่ได้เข้าไปดูแล แต่หลังจากที่ศาลตัดสินแล้ว ถือว่าระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นสมบัติของราชการ ซึ่งต้องเข้าไปตรวจสอบอีกทีว่าสภาพเป็น อย่างไร ใช้การได้อยู่หรือไม่ แต่คดีคลองด่านนั้นยังไม่ ยังเหลือการพิจารณาคดีอีก 2-3 คดี ที่สำคัญคือ คพ.ฟ้องคดีอาญาฐานเอกชนฉ้อโกงที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้าง ซึ่งน่าจะตัดสินในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า

สำหรับคดีมหากาพย์โครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ในครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ให้ออกแบบและก่อสร้าง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2540 มีมูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น 22,949,984,020 บาท แบ่งเป็นเงินบาท 19,506,096,607 บาท และเงินเหรียญสหรัฐอเมริกา 134,421,835 เหรียญ ทั้งนี้ คพ.โดยนายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ อธิบดี คพ.ในขณะนั้น ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2546 ให้กิจการร่วมค้ายุติการก่อสร้างใดๆ ในโครงการ เพราะสัญญาตกเป็นโมฆะ เนื่องจาก คพ.ได้ทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล ซึ่งเป็นสาระแห่งนิติกรรม และได้ยื่นฟ้อง บริษัทที่ 1-5 กับพวกต่อศาลแขวงดุสิตในปี 2547 ในความผิดฐานฉ้อโกง และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อปี 2552 ว่ามีการทุจริตของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และกิจการร่วมค้า ดังนั้นสัญญาที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย โดยในขณะที่กิจการร่วมค้าได้ดำเนินโครงการไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ และเบิกเงินค่าจ้างไปแล้ว 17,045,889,431.40 บาท เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ 121,343,886.19 เหรียญ เหลือค่างวดงาน 55-58 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างจำกัด กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นผู้รับจ้างตามโครงการ จึงยื่นข้อเสนอ ข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ เรียกค่า เสียหายต่อ คพ.เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2546